วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทนอยชวานสไตน์













ปราสาทนอยชวานชไตน์ (Schloß Neuschwanstein) เป็นปราสาทตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์แถบแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี สร้างในสมัยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย ในช่วง ค.ศ. 1845-86 เป็นปราสาทที่งดงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก และเป็นต้นแบบของการสร้างปราสาทเทพนิยายเจ้าหญิงนิทรา ที่สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ และโตเกียวดิสนีย์แลนด์ รวมไปถึงที่แดนเนรมิต

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรียมีพระประสงค์ให้จัดสร้างเพื่อเป็นที่ประทับอย่างสันโดษ ห่างจากผู้คนและเพื่ออุทิศให้แก่กวี ริชาร์ด วากเนอร์ ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างให้เป็นไปตามบทประพันธ์เรื่อง อัศวินหงษ์ (Swan Knight Lohengrin) ดังนั้นปราสาทแห่งนี้จึงได้รับการตกแต่งตามเรื่องร่าวในบทประพันธ์ดังกล่าว ปราสาทแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย คริสเตียน แยงค์ (Christian Jank) ซึ่งเป็นนักออกแบบทางการละคร มากกว่าที่จะเป็นสถาปนิก








ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทแห่งนี้ถึงปีละ 1.3ล้านคน โดยมากถึงวันละ 6,000 คนในช่วงฤดูร้อน


ปราสาทนอยชวานสไตน์สร้างขึ้นบนยอดเขาลูกหนึ่ง ที่รายล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามของเทือกเขาแอลป์และทะเลสาบด้านล่าง จุดประสงค์ของการสร้างปราสาทนี้เพื่อให้ผสานกลมกลืนไปกับธรรมชาติอันงดงามรอบด้าน ปกติการสร้างปราสาทจะต้องมีสวนที่สวยงามเป็นบริเวณกว้าง มีการสร้างบ่อน้ำพุในสวน แต่นอยชวานสไตน์ไม่จำเป็นต้องมีสวน เพราะมีธรรมชาติอันน่าอัศจรรย์รายล้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องมีน้ำพุ เพราะมีน้ำตกทางธรรมชาติอยู่ใกล้ ๆ






ปราสาทนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2





แห่งรัฐบาวาเรีย






พระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย หรือ ลุดวิก ฟรีดิช วิลเฮลมที่ 2 แห่งบาเยิร์น (ภาษาอังกฤษ: Ludwig II of Bavaria; ภาษาเยอรมัน: Ludwig Friedrich Wilhelm II von Bayern) (25 สิงหาคม ค.ศ. 1845 - 13 มิถุนายน ค.ศ. 1886) ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรบาวาเรียระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ปี ค.ศ. 1864 จนไม่กี่วันก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย บางครั้งรู้จักกันในพระนามว่า “พระเจ้าหงส์” (Swan King) ในภาษาอังกฤษ และ “พระเจ้าเทพนิยาย” (der Märchenkönig) ในภาษาเยอรมัน ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1845 ที่วังนิมเฟนเบิร์ก นอกเมืองมิวนิค ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนีปัจจุบัน ทรงเป็นพระราชโอรสองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่ 2 แห่งบาวาเรีย และ เจ้าหญิงมารีแห่งปรัสเซีย ทรงครองราชย์ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ปี ค.ศ. 1864 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1886 พระเจ้าลุดวิกที่ 2 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1886 ที่ทะเลสาบสตาร์นเบิร์ก พระร่างถูกฝังไว้ที่วัดเซนต์ไมเคิล ที่มิวนิคในคริพต์ของราชวงศ์วิทเทิลสบาค

พระเจ้าลุดวิกทรงเป็นบุคคลที่มีลักษณะนิสัยที่ลึกลับเป็นปริศนา (eccentric) และผู้ที่สิ้นพระชนม์ในสถานะการณ์ที่ค่อนข้างมีเงื่อนงำ สุขภาพจิตของพระองค์ในบั้นปลายอาจจะไม่ปกติแต่ก็ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่เป็นที่ยืนยันได้แน่นอน แต่สิ่งที่ทรงทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังคืองานทางสถาปัตยกรรมที่ทรงก่อสร้างที่รวมทั้งวังและปราสาทใหญ่โตที่ทั้งหรูหราโอ่อ่าและเต็มไปด้วยจินตนาการราวเทพนิยายหลายแห่ง รวมทั้งปราสาทนอยชวานชไตน์ซึ่งเป็นปราสาทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีและนักเขียนดนตรีโอเปร่าคนสำคัญของเยอรมนี











พระเจ้าลุดวิกขึ้นครองราชบัลลังก์บาวาเรียเมื่อพระชันษาได้เพียง 18 ปึหลังจากที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ลุดวิกยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าแม็กซิมิลเลียนที่ 2 เป็นไปอย่างกระทันหันหลังจากประชวรได้เพียงสามวัน เพราะความที่ยังหนุ่มและมีพระโฉมงามทำให้ทรงเป็นที่นิยมทั้งในบาวาเรียและที่อื่นๆ ในบรรดาสิ่งแรกที่ทรงกระทำคือทรงเรียกตัววากเนอร์มายังราชสำนักมิวนิค ลุดวิกทรงชื่นชมผลงานของวากเนอร์มาตั้งแต่ทรงได้ชมโอเปร่าโลเฮนกริน (Lohengrin) ของวากเนอร์ วากเนอร์ผู้ซึ่งขณะนั้นอายุ 51 ปีก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลุดวิกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1864 เหตุที่โอเปร่าของวากเนอร์เป็นที่ต้องพระทัยลุดวิกก็เป็นเพราะเนื้อหาของโอเปร่าของวากเนอร์เต็มไปด้วยอุดมคติและจินตนาการแบบเทพนิยาย วากเนอร์มีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเรื่องหนี้สินและมักจะมีเจ้าหนี้ไล่ตามอยู่เรื่อยๆ แต่วากเนอร์ก็มาได้พระเจ้าลุดวิกช่วยถ่ายถอนหนี้ให้ วากเนอร์กล่าวถึงลุดวิกว่า:

“Alas, he is so handsome and wise, soulful and lovely, that I fear that his life must melt away in this vulgar world like a fleeting dream of the gods.”
เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าไม่ได้พระเจ้าลุดวิก วากเนอร์คงจะไม่ได้เขียนโอเปร่าชิ้นต่อๆ มา ลุดวิกทรงเรียกวากเนอร์ว่า “เพื่อน” แต่ความที่วากเนอร์มีนิสัยอันโอ่อ่าฟุ่มเฟือยของ จึงทำให้วากเนอร์ไม่เป็นที่ต้องใจของชาวบาวาเรียผู้ยังออกจะหัวโบราณ ในที่สุดลุดวิกก็ต้องขอให้วากเนอร์ออกจากเมือง

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์คือความกดดันในการมีผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และความสัมพันธ์กับปรัสเซีย ทั้งสองสถานะการณ์กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในปี ค.ศ. 1867 เมื่อพระเจ้าลุดวิกทรงหมั้นกับดัชเชสโซฟี ชาร์ลอตในบาวาเรีย ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของลุดวิกเองและเป็นพระขนิษฐาของดัชเชสเอลิซาเบธ การหมั้นประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1867 แต่ทรงเลื่อนวันแต่งงานไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทรงถอนหมั้นในเดือนตุลาคม หลังจากการประกาศการถอนหมั้น โซฟีก็ได้รับพระราชสาส์นจากลุดวิกถึง “เอลซา” กล่าวโทษพระบิดาของโซฟีว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับโซฟีไม่สามารถดำเนินต่อไปได้และทรงลงพระนามว่า “ไฮน์ริค” (“เอลซา” และ “ไฮน์ริค” เป็นตัวละครจากโอเปร่าของวากเนอร์ ลุดวิกมิได้ทรงเสกสมรสจนตลอดพระชนมายุ โซฟีต่อมาทรงเสกสมรสกับเฟอร์ดินานด์ ฟิลลีป มารี, ดยุ้คแห่งอาลองชอง

เมื่อลุดวิกเป็นพันธมิตรออสเตรียในการต่อสู้กับปรัสเซียในสงครามเจ็ดปี ทรงพ่ายแพ้สงคราม สัญญาสงบศึกบังคับให้พระองค์ต้องยอมรับสนธิสัญญาการรักษาความสงบระหว่างปรัสเซียกับบาวาเรียในปี ค.ศ. 1867 สนธิสัญญาระบุว่าบาวาเรียต้องเข้าข้างปรัสเซียเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1870 ออตโต ฟอน บิสมาร์คก็ยังขอให้ลุดวิกเขียนจดหมายสนับสนุนเรียกร้องให้ประกาศพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียเป็นจักรพรรดิ หรือ ไกเซอร์ของจักรวรรดิเยอรมันที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ลุดวิกได้รับเงินเป็นการตอบแทนในการสนับสนุนแต่เป็นการกระทำที่ลุดวิกต้องจำยอม การก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันทำให้บาวาเรียที่เคยเป็นแคว้นอิสระกลายมาเป็นแคว้นชั้นรอง เมื่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันขึ้นความเป็นอิสระแก่ตัวของแคว้นบาวาเรียก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย ลุดวิกทรงประท้วงโดยการไม่ทรงเข้าร่วมพิธีการสถาปนาพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมันที่พระราชวังแวร์ซายส์ในปารีส

ตลอดรัชสมัยลุดวิกทรงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายต่อเนื่องกันมาตลอด โดยเฉพาะกับริชาร์ด ฮอร์นนิก ราชอัศวรักษ์, โจเซฟ แคนซ์นักแสดงชาวฮังการี, อัลฟอนส เวบเบอร์ ข้าราชสำนัก ในปี ค.ศ. 1869 ทรงเริ่มทรงบันทึกประจำวันที่ทรงบรรยายความรู้สึกส่วนพระองค์ และการทรงพยายามหยุดยั้งหรือควบคุมความต้องการทางเพศ และการที่ยังทรงยึดมั่นในความเป็นโรมันคาทอลิกอย่างแท้จริง บันทึกประจำวันฉบับดั้งเดิมสูญหายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสำเนาที่เขียนก่อนสงคราม สำเนาบันทึกประจำวันและจดหมายส่วนพระองค์เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลุดวิกต้องทรงต่อสู้กับพระองค์เองในความเป็นผู้รักเพศเดียวกันตลอดพระชนมายุ

เมื่อบาวาเรียสูญเสียอิสรภาพลุดวิกก็ยิ่งกลายเป็นคนสันโดษมากขึ้นจากการออกท้องพระโรงและกับทำหน้าที่การปกครอง ในปี ค.ศ. 1880 ลุดวิกใช้เวลาเกือบทั้งหมดอย่างโดดเดี่ยวที่บริเวณเทือกเขาบาวาเรียแอลป์ซึ่งเป็นที่ทรงสร้างพระราชวังแบบเทพนิยายหลายแห่งโดยความช่วยเหลือของคริสเตียน แย้งค์ผู้ออกแบบฉากละคร ทรงสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ทางเหนือซอกเขาโพลลัทไม่ไกลจากปราสาทโฮเฮ็นชวานเกาที่เคยทรงพำนักเมื่อยังทรงพระเยาว์ วังลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof Castle) ตั้งอยู่ที่หุบเขากรสแวงที่สร้างแบบหลุยส์ที่ 14 และเป็นปราสาทเดียวในสามปราสาทที่สร้างเสร็จ ปราสาทที่สามที่ทรงสร้างแต่ไม่เสร็จเช่นกันคือวังแฮเร็นเคียมเซ (Herrenchiemsee) ที่ตั้งอยู่บนเกาะแฮเร็นในทะเลสาบเคียมเซ บางส่วนสร้างแบบพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส ลุดวิกทรงสร้างปราสาททั้งสามเพื่อเป็นเทิดทูนตำนานนอร์ดิคเรื่องโลเฮ็นกริน (Lohengrin), ทริสทันและอิโซลด์ (Tristan and Isolde) และ แหวนแห่งนิเบลลุงเก็น (Der Ring des Nibelungen)

การถูกถอดจากบัลลังก์และการสิ้นพระชนม์
พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ในบั้นปลายของชีวิต
กางเขนอนุสรณ์ ณ ที่พบพระศพของพระเจ้าลุดวิกที่ทะเลสาบสตาร์นเบิร์กเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1886 รัฐบาลบาวาเรียแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าพระเจ้าลุดวิกถูกปลดจากการเป็นพระมหากษัตริย์เพราะไม่ทรงมีความสามารถใช้อำนาจด้วยพระองค์เองได้ ตามคำรายงานของจิตแพทย์ 4 คนที่บรรยายพระอาการว่าเป็นโรคหวาดระแวงทางจิต[11] แต่ในประกาศมิได้กล่าวถึงการตรวจทางพระวรกาย และแต่งตั้งให้เจ้าชายลุทโพลด์แห่งบาวาเรียพระปิตุลาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ศาสตราจารย์เบิร์นฮาร์ด ฟอน กุดเด็นเป็นหัวหน้ากลุ่มจิตแพทย์ที่ให้คำบรรยายพระอาการทางจิต โดยใช้ “หลักฐาน” จากรายงานต่างๆ ที่รวบรวมมาจากข้าราชบริพารในพระราชสำนักและศัตรูทางการเมืองที่เกี่ยวกับพระจริยาวัตรที่ถือว่าแปลก หลักฐานที่กล่าวเป็นเพียงคำบอกเล่าซึ่งอาจจะได้มาจากการติดสินบนหรือการขู่เข็ญ ฉะนั้นความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านี้จึงยังเป็นที่เคลือบแคลง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้าลุดวิกไม่มีอะไรผิดปกติแต่ทรงเป็นเหยื่อทางการเมือง บางคนก็เชื่อว่าพระจริยาวัตรที่แปลกของพระเจ้าลุดวิกอาจจะเป็นผลมาจากการที่ทรงใช้คลอโรฟอร์มในการบำบัดการปวดพระทนต์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แทนที่จะเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาอย่างที่จิตแพทย์อ้าง ดัชเชสเอลิซาเบธแห่งบาวาเรียทรงออกความเห็นว่าพระเจ้าลุดวิกไม่ได้ทรงเป็นโรคจิตแต่เพียงแต่มีพระลักษณะนิสัยที่ออกไปทางลึกลับและเป็นปริศนา (eccentric) และทรงชอบอยู่ในโลกของความฝันและจินตนาการ และทรงกล่าวว่าถ้าพวกที่กล่าวหาจะปฏิบัติต่อพระเจ้าลุดวิกนุ่มนวลกว่านั้น เหตุการณ์ก็คงจะไม่ลงเอยด้วยความเศร้าอย่างที่เกิดขึ้น

หลังการประกาศพระเจ้าลุดวิกก็ถูกนำตัวไปจากนอยชวานชไตน์ที่เป็นที่ทรงประทับในขณะนั้นไปยังปราสาทเบิร์กริมทะเลสาบสตาร์นเบิร์กอย่างลับๆ หลังจากที่รัฐบาลพยายามที่จะจับกุมพระองค์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ครั้งแรกที่พยายาม ลุดวิกก็สั่งจับผู้ที่จะมาจับพระองค์และทรงขู่ว่าจะลงโทษผู้ที่ทรงถือว่าเป็นกบฏต่างๆ นาๆ แต่ก็มิได้ทรงทำจริง นอกจากจะขังผู้ที่จะมาจับไว้ในปราสาทแต่ต่อมาก็ถูกปล่อย ต่อมาเมื่อพยายามอีกประชาชนจากหมู่บ้านใกล้ๆ นอยชวานชไตน์ก็ยกกำลังกันมาป้องกันพระองค์ และถวายคำเสนอว่าจะพาพระองค์หนีข้ามพรมแดนแต่ทรงปฏิเสธ และอีกครั้งหนึ่งกองทหารจากเค็มพตันถูกเรียกตัวมานอยชวานชไตน์แต่ก็มาถูกกักโดยรัฐบาล

ลุดวิกทรงพยายามเรียกร้องโดยตรงต่อประชาชนโดยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์:

“เจ้าชายลุทโพลด์ทรงตั้งใจจะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในแผ่นดินของข้าพเจ้าโดยมิใช่เป็นความตั้งใจของข้าพเจ้า และรัฐมนตรีต่างกล่าวหาในเรื่องสถานะภาพทางจิตใจของข้าพเจ้าอย่างผิดๆ เพื่อที่จะหลอกลวงประชาชนที่รักของข้าพเจ้า และ (รัฐบาล) พร้อมที่จะเป็นกบฏ [...] ข้าพเจ้าขอให้ชาวบาวาเรียผู้จงรักภักดีให้ช่วยเรียกร้องและสนับสนุนผู้ที่สนับสนุนและมีความจงรักภักดีต่อข้าพเจ้า เพื่อให้แผนในการกบฏต่อกษัตริย์และแผ่นดินประสบความล้มเหลว”
คำประกาศนี้ลงพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ที่แบมเบิร์กเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 แต่ถูกยึดโดยรัฐบาลเพราะความกลัวจากผลของการเผยแพร่ข้อเขียนนั้น โทรเลขถึงนักหนังสือพิมพ์และเพื่อนของลุดวิกเกือบทุกชิ้นถูกรัฐบาลสั่งสกัดกั้นทั้งสิ้น แต่ลุดวิกได้รับสาส์นจากออตโต ฟอน บิสมาร์คให้เดินทางไปมิวนิคเพื่อไปปรากฏพระองค์ต่อประชาชน แต่ลุดวิกทรงมีความรู้สึกว่าไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเป็นการตัดสินชะตาของพระองค์เอง รุ่งขึ้นวันที่ 12 มิถุนายนคณะกรรมการจากรัฐบาลกลุ่มที่สองก็มาถึงปราสาท พระเจ้าลุดวิกทรงถูกจับเมื่อเวลาตีสี่และถูกนำตัวขึ้นรถม้า ทรงถามด็อกเตอร์กุดเด็นผู้เป็นผู้นำคณะกรรมการว่าทำไมจึงประกาศว่าพระองค์วิกลจริตได้ในเมื่อด็อกเตอร์กุดเด็นก็ไม่เคยตรวจพระองค์ แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าลุดวิกก็ถูกนำตัวจากนอยชวานชไตน์ไปยังปราสาทเบิร์กบนฝั่งทะเลสาบสตาร์นเบิร์กทางใต้ของมิวนิคในวันนั้น

การสิ้นพระชนม์ของลุดวิกที่ทะเลสาบสตาร์นเบิร์กเป็นเรื่องที่ยังที่น่าสงสัยกันอยู่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1886 เวลาหกโมงเย็นลุดวิกทรงขอออกไปเดินกับด็อกเตอร์กุดเด็น ด็อกเตอร์กุดเด็นตกลงและสั่งไม่ให้ยามเดินตามไปด้วย ทั้งลุดวิกและด็อกเตอร์กุดเด็นไม่ได้กลับมาจากการเดิน คืนเดียวกันร่างของทั้งสองคนก็พบลอยน้ำใกล้ฝั่งทะเลสาบสตาร์นเบิร์กเมื่อเวลาห้าทุ่ม หลังจากที่สิ้นพระชนม์ก็มีการสร้างชาเปลเพื่อเป็นอนุสรณ์ตรงที่พบพระศพ ทุกวันที่ 13 มิถุนายนของทุกปีจะมีพิธีรำลึกถึงพระองค์

รัฐบาลประกาศว่าการสิ้นพระชนม์ของลุดวิกเป็นการฆ่าตัวตายโดยการจมน้ำตาย ซึ่งไม่เป็นความจริง สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของลุดวิกไม่เคยมีการอธิบายอย่างเป็นจริง เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าลุดวิกทรงว่ายน้ำแข็งและที่บริเวณที่พบพระศพน้ำก็ลึกเพียงแค่เอว รายงานการชันสูตรพระศพก็บ่งว่าไม่มีน้ำในปอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสิ้นพระชนม์โดยการจมน้ำตาย สาเหตุการสิ้นพระชนม์ยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้เพราะราชวงศ์วิทเทิลสบาคยังไม่ยอมให้แก้ปัญหา สาเหตุการสิ้นพระชนม์จึงมีด้วยกันหลายทฤษฏี ทฤษฏีเชื่อกันว่าลุดวิกถูกลอบปลงพระชนม์โดยศัตรูขณะที่ทรงพยายามหนีจากเบิร์ก และอ้างกันว่าทรงถูกยิงตาย แต่เจคอป ลิเดิลนักตกปลาประจำพระองค์กล่าวว่าสามปีหลังจากที่สิ้นพระชนม์ ลิเดิลถูกบังคับให้สาบานว่าจะไม่เอ่ยปากกับใครถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ลิเดิลก็ไม่ได้กล่าวอะไรกับใครแต่ทิ้งบันทึกที่มาพบเอาหลังจากที่ลิเดิลเสียชีวิตไปแล้ว ในบันทึกกล่าวว่าตัวลิเดิลเองซุ่มรอลุดวิกอยู่ในเรือที่จะพาพระองค์ไปกลางทะเลสาบเพื่อจะไปสมทบกับผู้ที่จะช่วยหลบหนีคนอื่นๆ แต่เมื่อทรงก้าวมาทางเรือ ลิเดิลก็ได้ยินเสียงปืนจากฝั่ง ลุดวิกล้มลงมาในเรือและสิ้นพระชนม์ทันที อีกทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าลุดวิกสิ้นพระชนม์ตามธรรมชาติอาจจะจากหัวใจวายหรือเส้นโลหิตในสมองแตก ระหว่างที่ทรงพยายามหลบหนีเพราะอากาศที่ทะเลสาบเย็น บางคนก็เชื่อว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการเฉลยปัญหานี้คือการชันสูตรพระศพใหม่ เพื่อจะได้รู้กันเป็นที่แน่นอน เพราะถ้าทรงถูกยิงจริงก็เป็นสิ่งที่ง่ายที่จะพบแม้ว่าจะเกิดขึ้นนานมาแล้วก็ตาม

ร่างของลุดวิกทรงเครื่องแบบเต็มยศของ Order of the Knights of St. Hubert และตั้งที่ชาเปลหลวงที่วังหลวงที่มิวนิค ในมือขวาทรงถือช่อดอกมะลิที่ดัชเชสเอลิซาเบธทรงเก็บให้ หลังจากพิธีที่จัดอย่างสมพระเกียรติร่างของลุดวิกยกเว้นหัวใจก็ถูกนำไปไว้ในคริพต์ที่วัดเซนต์ไมเคิลที่มิวนิค ตามประเพณีของบาวาเรียหัวใจของกษัตริย์จะใส่ในผอบเงินและส่งไปที่ชาเปลกนาเด็น (Gnadenkapelle) ที่ Chapel of the Miraculous Image ที่อาลเทิททิง ผอบของลุดวิกตั้งอยู่ข้างพระบิดาและพระอัยยิกาภายในชาเปล



เครดิต:http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1313884
http://www.beautiful-castle.ob.tc/Neuschwanstein/Wagner.gif
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/a5/De_20_jarige_Ludwig_II_in_kroningsmantel_door_Ferdinand_von_Piloty_1865.jpg/246px-De_20_jarige_Ludwig_II_in_kroningsmantel_door_Ferdinand_von_Piloty_1865.jpg